ผู้เอ่ยประโยคข้างต้น เป็นบุคคลสำคัญที่เกาะติดเรื่องภัยพิบัติมาโดยตลอด และเป็นถึงอดีตนักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซาที่หลาย ๆ ท่านรู้จักกันดีในชื่อ "ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ" นักวางยุทธศาสตร์ และนักบริหารองค์กรแนวพุทธที่ทำให้หลาย ๆ บริษัทชื่อดังประสบความสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง ปัจจุบันเป็นคุณพ่อลูกสองที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเชื่อว่าเป็นวิถีทางรอดท่ามกลางสังคมโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เริ่มส่งสัญญาณความไม่ปกติของโลกถี่ขึ้นเรื่อย ๆ "ลูกผมตอนนี้ ผมเตรียมพร้อมพวกเขาในด้านร่างกาย อย่างวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมไม่ให้เขาจมอยู่กับทีวี หรืออินเทอร์เน็ท แต่จะพาเขาไปออกกำลังกาย ช่วยผมเลี้ยงสัตว์ ทำสวนในไร่ ที่สำคัญผมเตรียมพร้อมในด้านจิตใจด้วย พาเขาไปทำจิตอาสา ส่วนเรื่องความรู้ไม่ต้องไปสอนเขามาก โรงเรียนกวดวิชาเขาสอนมันกว่าเราเยอะ หน้าที่ของพ่อแม่คือ หาโอกาสพาลูกไปเห็นของจริงนอกบ้านบ้าง เช่น การอยู่ การกิน การใช้ชีวิตกับธรรมชาติ และสอนว่าอันนี้กุศล หรืออกุศล แล้วเชื่อเถอะครับว่า เด็กจะมีภูมิคุ้มกัน และอยู่กับภัยธรรมชาติในโลกอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรได้อย่างเข้มแข็ง" ดร.วรภัทร์เผยถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมทั้งตัวพ่อแม่และตัวลูก แต่ทุกวันนี้ครอบครัวไทย โดยเฉพาะครอบครัวคนเมืองยังไม่ค่อยตื่นตัวเท่าที่ควร "ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ถ้าพาตัวเอง และลูก ๆ ออกไปอยู่ต่างจังหวัดบ้าง ผมมองว่ามีอะไรที่น่าเรียนรู้อีกเยอะมาก อีกอย่าง ผมมีความเชื่อว่า ระบบทุนนิยมสักวันมันต้องสลาย และพังลงไป เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบทุนนิยมก็หายไปด้วย แต่ลูกของพวกคุณถูกฝึกมาให้พึ่งพาเทคโนโลยี พึ่งพาผู้อื่น พึ่งพาห้างสรรพสินค้า ถามหน่อยว่า ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมาจริง ๆ จะอยู่กันรอดได้อย่างไร" ดร.วรภัทร์ให้ทัศนะหลังจบงานเสวนาคิดใหม่ 2555 อยู่อย่างไร เมื่อภัยพิบัติมาเยือน! ที่มูลนิธิบ้านอารีย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น ดร.วรภัทร์ เสนอแนวทางว่า ครอบครัวไทยต้องหันกลับมาทำตามสิ่งที่ในหลวงท่านสอน กลับมาสู่พื้นฐาน และใช้ชีวิตโดยยึดหลักความพอเพียง "ผมอยากให้พ่อแม่ค่อย ๆ พาตัวเอง และลูก ๆ กลับไปเรียนรู้พืชผักพื้นเมือง และสมุนไพรไทยบ้าง เผื่อวันข้างหน้าเกิดปัญหายาต่างชาติไม่สามารถส่งเข้ามาได้ คุณจะได้รู้จักทำยาจากสมุนไพร หรือไม่ก็หัดไปปลูกเผือกปลูกมันกินกันเอง เพราะข้าวอาจปลูกขึ้นได้ยากแล้วในสภาพอากาศตอนนี้ ที่สำคัญ หัดซื้อของให้น้อยลงบ้าง เลิกฟุ่มเฟือยกันได้แล้ว เพราะในโลกอนาคตเราอาจไม่มีน้ำมันเหลือ ไม่มีไฟฟ้าเหลือ แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร ถ้าไม่หัดพึ่งตัวเองให้เป็น" | |||||
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ดร.วรภัทร์ ยังเป็นห่วงไปถึงระบบการศึกษาไทยที่เน้นสอนแต่เรื่องห่างไกลตัว ทำให้เด็กไม่ค่อยมีทักษะการใช้ชีวิต และการเอาตัวรอดเมื่อต้องอยู่ในสภาวะวิกฤต "อย่างใบไม้ ไม่ใช่มีแค่ใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ แต่มันมีแค่ 2 อย่างเท่านั้นเองคือ กินได้กับกินไม่ได้ แต่เราไม่สอนเด็ก ถ้าเกิดเด็กหลงป่า ติดเกาะพวกเขาจะรู้ไหมว่าพืชผักชนิดใดกินได้ หรือกินไม่ได้ เลิกสอนแบบรู้ลึกโง่กว้างกันได้แล้ว ส่วนลูกคนมีเงินเขาก็ไปเรียนโรงเรียนดี ๆ แต่คนจนทำไมต้องไปเรียนวิชาของเศรษฐี ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเราจะสอนคนจนอย่างไรให้เขาเอาตัวรอดได้ วิชาซาเล้งวิทยาน่าจะมี วิชาติดต่อราชการ หรือวิชาลับลวงพรางเพื่อจะได้รู้เท่าทันคนก็น่าจะมีนะ" "ดังนั้น ผมอยากให้อาจารย์ที่ออกข้อสอบทำตัวเหมือนชาวบ้านกันหน่อยได้ไหม เลิกอะไรที่มันวัตถุนิยมมากขึ้น สอนเด็กให้อยู่กับความรู้รอบตัวให้มากขึ้น พ่อแม่ควรเข้ามาช่วยร่วมด้วยช่วยกันเพื่อเตรียมพร้อมเด็กรุ่นใหม่ในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีสติ เพราะเราไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้แน่ชัด บางทีพรุ่งนี้ มะรืนนี้ อาจเกิดน้ำท่วมขึ้นอีกระลอกใหม่ก็ได้ หรือแม้แต่แผ่นดินไหวที่ไม่เคยทำพิษรุนแรงในไทยมาก่อนก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน" ดร.วรภัทร์สะกิดใจผู้ใหญ่ในสังคม ท้ายนี้ ดร.วรภัทร์ได้แนะนำสถานที่เรียนรู้การพึ่งพาตัวเองที่น่าสนใจคือ "ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก เป็นศูนย์แสดงแนวคิด และทฤษฏีการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอนให้คนได้รู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ สร้างอาชีพสร้างความมั่นคงที่เกิดจากฐานการเรียนรู้การพึ่งตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ทุกกิจกรรมเน้นให้ก่อเกิดการเรียนรู้ที่สามารถปรับใช้ได้โดยง่าย แม้แต่ในห้องปัสสาวะชายที่ยังมีระบบการคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้น้ำประหยัดที่สุด และทำอย่างไรไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เมื่อโลกทุกวันนี้ไม่ได้สงบเฉกเช่นเดิม ภัยธรรมชาติมักจะมาได้เสมอโดยไม่บอกกล่าว และไม่มีการเตือนภัย ฉะนั้นอยู่ที่ตัวพ่อแม่ และผู้ใหญ่ในสังคมว่าจะเตรียมตัวเอง และเตรียมลูกหลานเพื่อรับมือ และอยู่อย่างไรเมื่อภัยธรรมชาติมาเยือน เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
|
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment